โรคของมะเขือเทศ
1.โรคเหี่ยวที่เกิดจาก Fusarium (Fusarium wilt)
สาเหตุโรค : Fusarium oxysporum f.sp. lycopersici
อาการโรค
โรคจะเกิดเป็นกับมะเขือเทศได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ในต้นกล้าอาการเริ่มแรกคือ หยุดการเจริญเติบโต ใบแก่จะตกขอบใบม้วนลงด้านใต้ เหี่ยวเฉา และตายในที่สุด ในต้นแก่ที่พ้นระยะกล้าแล้ว อาการส่วนใหญ่จะรุนแรงในระยะให้ดอก หรือขณะมีลูกจะสังเกตเห็นใบแก่ที่อยู่ตอนล่างๆ ของต้น เปลี่ยนสีเป็นสีเหลือง โดยอาการดังกล่าวบางครั้งจะแสดงออกเพียงด้านใดด้านหนึ่งของต้น ส่วนด้านที่เหลือยังคงเจริญเติบโตเป็นปกติ ทั้งนี้เนื่องจากการเข้าทำลายของเชื้อในระยะแรกเกิดขึ้นกับรากพืชเฉพาะซีกเดียวของต้นก่อน ต่อมาหลังจากรากที่เหลือถูกทำลายหมด อาการเหลืองจะค่อยๆ กระจายไปยังใบอื่นๆ ครั้งแรกจะเหี่ยวเฉพาะกลางวันที่อากาศ และแดดจัด และจะกลับตั้งตัวดังเดิมในเวลากลางคืน แต่เมื่อนานเข้าอาการเหี่ยวก็จะทวีเพิ่มมากขึ้นจนในที่สุดจะเหี่ยวอย่างถาวรต่อมาจะแห้งแล้วตายทั้งต้นในที่สุด หากถอนต้นมะเขือเทศที่แสดงอาการดังกล่าวขึ้นจากดินจะเห็นบริเวณโคนต้นระดับดินหรือต่ำลงไปเล็กน้อยและรากส่วนใหญ่ถูก ทำลายเป็นแผลสีนํ้าตาล เปลือกหลุดล่อน เมื่อผ่าต้นออกดูจะ เห็นส่วนของท่อนํ้าท่ออาหารถูกทำลายเกิดเป็นแผลเน่าสีนํ้าตาล จากระดับดินสูงขึ้นมา 4-5 นิ้วฟุต หรือมากกว่าจนตลอดทั้งต้นในกรณีที่เป็นรุนแรง บางครั้งถ้ามะเขือเทศให้ผลแล้วลูกที่มีอยู่จะถูกเชื้อเข้าทำลายด้วยโดยจะสังเกตรอยช้ำเน่าขึ้นในส่วนที่เป็นท่อนํ้าท่ออาหารของผล
การป้องกันกำจัด
1. เพาะกล้าในดินที่ใหม่สะอาดหรือฆ่าเชื้อแล้ว
2.หลีกเลี่ยงการปลูกมะเขือเทศลงในดินที่เคยมีโรคเกิดขึ้นการปลูกพืชหมุนเวียนแม้จะไม่สามารถกำจัดทำลายเชื้อได้หมดแต่ก็อาจช่วยลดความรุนแรงหรือความเสียหายจากโรคลงได้ แต่ต้องใช้เวลาที่ค่อนข้างนาน คือ 5 - 7 ปี เป็นอย่างต่ำ
3. ระวังเรื่องการเคลื่อนย้ายเชื้อในดินหรือสิ่งที่จะนำเอาเชื้อติดไปด้วย เช่น จอบ เสียม เครื่องมือขุดพรวนดิน ไม้หลักทำค้างที่เคยใช้มาก่อน
4. ปลูกมะเขือเทศในดินที่เป็นด่างเล็กน้อยจะปลอดภัยกว่าในดินกรด
2.โรคใบจุดสีน้ำตาล (early blight)
สาเหตุโรค: Alternaria solani
อาการ
เป็นโรคที่สำคัญของมะเขือเทศ ถ้าเกิดในระยะกล้าอาจทำให้ต้นตาย ลักษณะอาการเกิดที่ใบ ลำต้นและผล แผลเป็นสีน้ำตาลไหม้ อาจเป็นวงกลมซ้อนกันหลายชั้น ขอบแผลมีสีเหลือง ในระยะกำลังติดผล ทำให้ต้นโทรมก่อนแก่ ผลไม่สมบูรณ์ แผลสีน้ำตาลมักเริ่มเกิดบริเวณรอบๆขั้วผล ทำให้เก็บเกี่ยวไม่ได้ ในช่วงที่มีอากาศชื้นจะมีราดำขึ้นปกคลุมขนาดแผลไม่แน่นอน ใบที่เป็นโรคมักเริ่มจากส่วนล่างก่อนลามขึ้นส่วนบน
การป้องกันกำจัด
1. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อปะปน หากไม่แน่ใจให้นำมาจุ่มในสารละลายไทแรม 0.2% นาน 24 ชั่วโมง แล้วจึงค่อยนำไปเพาะ
2. หลังจากเก็บเกี่ยวผลแล้วให้เก็บทำลายเศษซากพืชที่เป็นโรคให้หมดโดยการเผาหรือฝังดินลึกๆ
3. ปลูกพืชหมุนเวียนโดยใช้พืชอื่นที่ไม่ใช่พวก Solanacious ปลูกสลับอย่างน้อย 3 ปี
4. หลีกเลี่ยงการย้ายกล้าอ่อนของมะเขือเทศไปปลูก ใกล้มะเขือเทศ มันฝรั่งหรือมะเขือยาวที่ปลูกอยู่ก่อน
5. หากเกิดโรคขึ้นในแปลงปลูกอาจป้องกันต้นที่ยังดีและลดความเสียหายของโรคลงได้โดยการใช้สารเคมีต่างๆ เช่น ไดเทนเอ็ม-45 แคปแตน แมนโคเซ็บ 20-30 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บ หรือคูปราวิท ไธแรม ซีเน็บ มาเน็บ 40-50 กรัมต่อนํ้า 1 ปี๊บ โดยให้เลือกใช้สารเคมีเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งทำการฉีดพ่นให้กับต้นมะเขือเทศทุกๆ 7-10 วัน ถ้าเกิดโรครุนแรง หรือสิ่งแวดล้อมเหมาะสมต่อการทำลายของโรค ก็ให้ร่นระยะเวลาฉีดให้เร็วขึ้นเป็น 3-5 วันต่อครั้ง
3.โรคใบหงิกเหลือง (Yellow leaf curl disease)
เชื้อสาเหตุโรค : ไวรัสใบหงิกเหลือง Tomato yellow leaf curl virus (TYLCV)
อาการของโรค
ใบยอดและใบอ่อนแสดงอาการเหลืองหรือด่างเหลือง และมีอาการใบหงิกหดย่น ขอบใบม้วนลงหรือม้วนขึ้น ใบหดเล็กลง หรือลีบเรียว ข้อปล้องหดสั้น ต้นเตี้ยแคระ ไม่เจริญเติบโตใบแก่มักแสดงอาการใบหงิกม้วนงอเพียงเล็กน้อย ดอกมักจะร่วง มะเขือเทศอาจติดผลได้บ้าง แต่ผลผลิตลดลงอย่างมาก เนื่องจากต้นพืชไม่เจริญ
การป้องกันกำจัด
ได้แก่การป้องกันกำจัดไม่ให้มีแมลงหวี่ขาวแพร่ระบาดในแปลงปลูก หรือหลีกเลี่ยงการปลูกพืชในช่วงที่มีแมลงชนิดนี้ระบาด ก็จะลดความเสียหายจากโรคนี้ลงได้