LINE it!
 @allkaset





  • โรคของมะนาว

    1.โรคแคงเกอร์ (Citrus canker)

    สาเหตุโรค : Xanthomonas campestris pv. citri
    อาการ
           โรคแคงเคอร์จะเกิดและเป็นได้กับทุกส่วนของต้นมะนาวที่อยู่เหนือพื้นดิน ไม่ว่าจะเป็นใบ ต้น กิ่งก้าน ดอก และผล บนใบ อาการระยะแรกจะเริ่มจากจุดเซลล์ตายเล็กๆ ขนาดหัวเข็มหมุด ลักษณะใสและฉ่ำนํ้า ต่อมาจะขยายโตขึ้นกลายเป็นแผลสะเก็ดนูน ค่อนข้างกลม และมีสีน้ำตาลคล้ายฟองน้ำ ตอนกลางจะเป็นแอ่งบุ๋มลง บางครั้งทำให้แลดูคล้ายกับเป็นแผลมีขอบ และแข็ง แต่ก็จะหลุดล่อนออกได้ง่าย ปกติแล้วแผลแต่ละแผลจะมีขนาดไม่โตนักประมาณ 2-3 มม. แต่ถ้าเกิดมากๆ แผลเหล่านั้นอาจจะมาต่อเชื่อมกันทำให้เกิดเป็นแผลใหญ่ และมีรูปร่างไม่แน่นอนขึ้น ส่วนใหญ่แล้วแผลจะเกิดขึ้นทั้งสองด้านของใบตรงกัน และมีสิ่งบ่งชัดอีกอย่างหนึ่ง คือ รอบแผลจะมีบริเวณเซลล์ตายสีเหลือง (halo) ล้อมรอบอยู่ บนต้นกิ่งและก้าน ส่วนใหญ่แผลมักจะเริ่มเป็นมาตั้งแต่ยังเป็นกิ่งอ่อน มีลักษณะอาการและการเกิดคล้ายกับที่ใบ แต่เมื่อเป็นนานจะขยายลามออกไปจนรอบ หรือไม่ก็ยาวไปตามกิ่ง แผลจะฟูนูนแข็งเป็นสะเก็ดและมีสีน้ำตาลเช่นกัน แต่จะไม่มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบ เช่น ที่ใบ บนผลมะนาว อาการก็คล้ายๆ กับที่ใบและกิ่งก้าน ลักษณะเป็นแผลสะเก็ดสีน้ำตาลผิวขรุขระ ตรงกลางเป็นแอ่งยุบลง เมื่อเริ่มเป็นจะมีสีเหลือง แล้วเปลี่ยนเป็นนํ้าตาลเมื่อแก่ แผลแต่ละแผลปกติจะมีขนาดและขอบเขตจำกัดค่อนข้างกลม หากเกิดมากอาจจะมารวมหรือชนต่อเชื่อมกันกลายเป็นแผลใหญ่ มีรูปร่างไม่แน่นอน แผลบนผลบางครั้งขณะที่ยังอ่อนมีสีเขียว อาจจะพบว่ามีวงแหวนสีซีดล้อมรอบแต่จะเป็นเพียงจางๆ ไม่ชัดเท่าบนใบ ผลมะนาวที่แสดงอาการมากๆ ขณะที่ยังอ่อนอาจจะร่วงหล่นออกจากต้นในรายที่เป็นรุนแรงต้นจะโทรม แคระแกรน อ่อนแอ ใบอาจจะหลุดร่วง กิ่งแห้งตาย ให้ลูกและผลน้อย และอาจถึงตายในที่สุด
    การป้องกันและกำจัด
           1.ตัดแต่งทรงพุ่มของต้นมะนาวให้โปร่ง อย่าให้มีกิ่งแขนงเล็กๆบดบังแสงแดดที่ส่องมายังต้นมะนาว รวมถึงบริเวณโคนต้นด้วย โดยทั่วไปแล้วแบคทีเรียทั้งหลายจะถูกทำลายโดยแสงยูวีหรือความร้อนนั้นเอง
           2.ให้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม ในการที่เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเร่งโตมากเกินความจำเป็นจะทำให้มะนาวโตและยืดโครงสร้างของเซลล์มากเกินไป เป็นสาเหตุของการสะสมเชื้อราและแบคทีเรียทั้งหลาย 
           3.ทำการฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ชื่อ สามัญ:อะบาแม็กติน เพื่อกำจัดหนอนชอนใบ และไข่หนอนผีเสื้อกลางคืนทุกๆ4-7วัน ในอัตราส่วนที่กำกับตามสลากยาไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เกินปริมาณที่กำหนดแมลงอาจดื้อยาได้ในอนาคตกรณีเป็นแมลงปากกัดเช่นแมลงค่อมหรือเพลี๊ยและแมลงปากดูด ให้ใช้ยาชื่อสามัญ ไธอะมีโทแซม (thiamethoxam)โดยควรเปลี่ยนยาทุกๆ2เดือนสลับกันไปเพื่อป้องกันการดื้อยาของแมลง
           4.หลีกเลี่ยงการรดน้ำมะนาวในช่วงเวลาเย็นตั้งแต่ 17.00น.เป็นต้นไป เพราะเชื้อราและแบคทีเรียจะเติบโตได้ดีในที่มีอากาศเย็นความชื้นสัมผัสสูงนั้นเอง ไม่ควรใช้สปริงเกอร์แบบกระจายไปทั่วสวนแต่ควรกำหนดเฉพาะจุดโคนต้นมะนาวเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความชื้นในใบและกิ่งของมะนาว

    2.โรคทริสเตซา (tristeza disease)

    สาเหตุโรค: Citrus tristeza virus (CTV)
    อาการ
           เริ่มจากใบอ่อนที่อยู่ปลายกิ่งหรือยอดจะแสดงอาการผิดปกติ โดยมีขนาดเล็กลง ขอบใบโค้งบิดงอขึ้นหรือห่อเป็นรูปถ้วย สีซีดจางหรือด่าง เหลืองสลับเขียว คล้ายขาดธาตุอาหารโดยเฉพาะตามแนวของเส้นใบ และจะยิ่งเห็นชัดขึ้นหากนำไปส่องดูกับแสงอาทิตย์ ใบพวกนี้จะล่วงหลุดจากต้นโดยง่าย ทำให้กิ่งแขนงแห้งตายจากส่วนยอดลงมา ต้นพวกนี้จะไม่ให้ลูกผลหรือให้ผลน้อย ที่ให้ผลแล้วก็จะ แกรนมีขนาดเล็กลง ต้นมะนาวที่มีอายุมากแล้วลำต้นมีขนาดใหญ่พอสมควรจะมีลักษณะอาการที่บ่งบอกได้อีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อใช้มีดบากแล้วลอกเปลือกของลำต้นออกดูที่เนื้อไม้จะพบว่าเป็นรูเล็กๆ จำนวนมาก ส่วนเปลือกที่ลอกออกมาก็จะมีหนามแหลมยื่นออกมาตรงกับรูหรือรอยที่บุ๋มลงไปของเนื้อไม้ บางครั้งอาจพบอาการยางไหลออกมาจากเปลือกของลำต้น หรือกิ่งที่มีขนาดใหญ่ ต้นมะนาวที่เป็นโรครุนแรงจะมีอาการโทรมอย่างรวดเร็ว และแห้งตายทั้งต้นในที่สุด
    การป้องกันและกำจัด
           1. ใช้กิ่งพันธุ์ที่สะอาดหรือปลอดโรค
           2. ป้องกันกำจัดแมลงต่างๆ หรือเพลี้ยอ่อนที่เป็นศัตรูส้มซึ่งอาจเป็นตัวนำหรือถ่ายเชื้อโดยการฉีดพ่นด้วยสารฆ่าแมลง
           3. ดูแลรักษาต้นส้มให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง อย่าให้ขาดน้ำ ธาตุอาหารจำเป็น เพราะต้นมะนาวที่อ่อนแอจะง่ายต่อการเกิดโรค และเสียหายรุนแรงกว่าต้นที่แข็งแรง

    3.โรคใบแก้ว (zinc deficiency)

    สาเหตุโรค: ขาดธาตุสังกะสี (Zn)
    อาการ
           การขาดธาตุสังกะสีจะเริ่มแสดงที่ใบอ่อนก่อนโดยเนื้อใบระหว่างเส้นแกนใบเกิดอาการซีดจางลง ต่อมาอาการซีดจะกลายเป็นเหลืองมากขึ้นโดยเส้นแกนใบและเส้นใบจะเขียวปกติอย่างเดิม ทำให้เกิดอาการด่างลายตัดกันชัดเจนยิ่งขึ้นใบที่แสดงอาการดังกล่าวมักจะมีขนาดเรียวเล็กปลายแหลมโดยเฉพาะใบอ่อน และปลายใบจะชี้ตั้งขึ้น อาการขาดสังกะสีจะเกิดขึ้นทั่วทั้งตันพร้อมกัน ในต้นที่แตกกิ่งก้านสาขามาก กิ่งจะหดสั้นใบอ่อนที่แสดงอาการด่างลายจะค่อยๆ แห้งจากปลายเข้ามาลักษณะเป็น die back ต้นจะโทรมแคระแกรน เจริญเติบโตไม่เต็มที่หากมีผลก็จะมีขนาดเล็กแข็งไม่มีนํ้า การขาดธาตุสังกะสีมักจะพบในดินที่เป็นกรดหรือด่างจัด ทำให้ธาตุสังกะสีที่มีอยู่ในดินไม่ละลายนํ้าพืชไม่สามารถดูดซึมขึ้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ โดยเฉพาะพืชตระกูล ส้ม มะนาว เป็นพืชที่ต้องการสังกะสีค่อนข้างสูง จึงแสดงอาการขาดให้เห็นเสมอ
    การป้องกันการขาดสังกะส
           1. ปรับความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้มีค่า pH เป็นกลางระหว่าง 6 – 6.5 ซึ่งจะทำให้สังกะสีที่มีอยู่สามารถละลายนํ้าพืชสามารถดูดซึมไปใช้ได้
           2. ในกรณีที่ต้นมะนาวแสดงอาการให้ใช้สังกะสีซัลเฟต (ZnSO4)ในอัตราส่วน 150 – 200 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร ราดลงไปในดิน หรือฉีดพ่นให้กับต้นมะนาวโดยตรงก็จะช่วยแก้ได้ดีและเร็วขึ้น นอกจาก ZnSO4 อาจจะใช้สังกะสีออกไซด์ (ZnO) ก็อาจนำมาใช้ได้แต่ละลายนํ้าได้น้อยกว่าจึงต้องใช้ในปริมาณมาก โดยใส่ลงในดินให้พืชค่อยๆ นำไปใช้ไม่นิยมฉีดพ่นให้กับพืชโดยตรงเหมือน ZnSO4
           3. ปัจจุบันมีสารเคมีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อรา ซึ่งมีธาตุสังกะสีเป็นส่วนผสมเช่น ไธแรมและ ซีเน็บนอกจากจะใช้ในการป้องกันกำจัดโรคที่เกิดจากราบางชนิดแล้วยังสามารถแก้การขาดธาตุสังกะสีได้ทางอ้อมอีกด้วย