1.โรคราแป้งขาวแตง (powdery mildew)
สาเหตุโรค : Erysiphe cichoracearum แล: Sphaerotheca fuliginea
อาการ
เชื้อราจะเข้าทำลายและเจริญเติบโตได้บนทุกส่วนของต้นแตงที่อยู่เหนือดินโดยจะเกิดอาการเป็นผงหรือฝุ่นแป้งสีขาวขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไปตรงจุดที่เกิดโรค ในระยะแรกเนื้อเยื่อตรงที่เกิดอาการขึ้นนี้จะไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ จนกระทั่งเป็นมากเชื้อราขึ้นคลุมไปหมด สีของต้นเถาหรือใบจะค่อยๆ ซีดเหลืองแล้วแห้งในเวลาต่อมา โดยเฉพาะถ้าเป็นส่วนที่ยังอ่อนอยู่อาจจะตายได้ สำหรับลูกหรือผลแตงอาการโรคจะเกิดขึ้นน้อยกว่าบนต้นและใบนอกจากพวกที่ติดโรคง่าย เช่น แตงโม แคนทาลูป และแตงร้าน ในรายที่เกิดโรครุนแรง และสิ่งแวดล้อมเหมาะสม ก็จะเกิดโรคขึ้นที่ลูกได้เช่นกัน และอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ ถ้าเป็นในระยะที่ลูกยังเล็ก หรืออ่อนอยู่โดยจะทำให้เกิดอาการแกร็น บิดเบี้ยว เสียรูปทรงผิวขรุขระ เป็นตุ่มหรือแผลขึ้นที่เปลือก ส่วนในลูกที่เจริญเติบโตเต็มที่ เมื่อเป็นโรคก็จะทำให้เกิดความไม่น่าดู ขายไม่ได้ราคา
การป้องกันและกำจัด
1. กำจัดวัชพืชหรือพวกพืชถาวรในตระกูลแตงในบริเวณแปลงปลูกให้หมด
2. เมื่อปรากฏมีโรคเกิดขึ้นให้ใช้สารเคมีต่อไปนี้
- คาราเทน (karathane) หรือมิลเด็กซ์ (mildex) ใช้ได้ดีกับแตงไทยและแตงแคนทาลูปโดยเฉพาะกับเชื้อ Sphaerotheca โดยใช้สารเคมีดังกล่าว 125 - 180 กรัมละลายนํ้า 1 ปี๊บ ฉีดทุก 3 - 5 วัน
- โอวาแทรน (ovatran) ปกติสารเคมีนี้ใช้ป้องกันกำจัดพวกไรหรือแมงมุมแดง แต่ก็ปรากฏว่าใช้ได้ผลดีในการป้องกันกำจัดโรคราแป้งขาวบนแตงโดยเฉพาะแตงกวา และแตงร้าน
- คูปราวิทหรือค็อปปิไซด์ในอัตราส่วน 30-40 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บทุกๆ 7 - 10 วัน
- เบนเลทในอัตราส่วน 125 - 180 กรัม ต่อนํ้า 1 ปี๊บ ทุก 2 อาทิตย์
3. เลือกปลูกแตงโดยใช้พันธ์ที่มีความต้านทาน
2.โรคใบจุดเหลี่ยม (angular leaf spot)
สาเหตุโรค : Pseudomonas syringae pv. Lachrymans
อาการ
อาการโรคจะเกิดขึ้นได้บนทุกส่วนของต้นแตงไม่ว่าจะเป็นกิ่ง ต้น เถา ใบและผล แต่อาการที่เกิดบนใบจะเด่นชัดกว่าที่อื่น คือ เเผลที่เกิดขึ้นมีรูปร่างไม่คงที่ แต่ค่อนข้างเป็นเหลี่ยมลักษณะเป็นแผลช้ำฉ่ำน้ำ ในระยะที่อากาศมีความชื้นสูงหรือในตอนเช้าหลังจากที่มีหมอก น้ำค้างจัดในตอนกลางคืน ตรงบริเวณที่เป็นแผลจะปรากฎเมือกของเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุโรคซึมเยิ้มออกมาคลุมปิดอยู่เต็ม เมือกสีเหลืองแบคทีเรียนี้ เมื่อถูกความร้อนจากแสงแดดในตอนกลางวันก็จะแห้งกลายเป็นคราบหรือเกล็ดเคลือบปิดแผลอยู่ ขณะเดียวกันแผล ซึ่งแต่เดิมมีลักษณะช้ำฉ่ำนํ้า ก็จะค่อยๆ แห้งเปลี่ยนเป็นสีเทา หรือนํ้าตาลและอาจขาดหลุดออกจากเนื้อในปกติ ทำให้เกิดแผลเป็นรูพรุนขึ้น บนผลแตงจุดแผลที่เกิดจะมีขนาดเล็กกว่าที่ใบและค่อนข้างกลม เมื่อเป็นนานๆ จะมีสีขาว และเปิดแยกออกเป็นแผลตื้นๆ ซึ่งแผลนี้มักจะเป็นช่องทางให้เชื้อพวกที่ทำให้เกิดอาการเน่าเละตามเข้าไปภายหลัง ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดอาการเน่าเสียหมดทั้งลูก อย่างไรก็ดี การที่ผลแตงถูกเชื้อเข้าทำลาย เกิดอาการโรคขึ้นนี้ เชื้อก็จะไปเคลือบเกาะติดอยู่ที่ผิวหรือเปลือกของเมล็ด ทำให้เกิดเป็น seed-borne อยู่ข้ามฤดูหรือระบาดไปเป็นระยะทางไกลๆ ได้
การป้องกันและกำจัด
1. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อ หากไม่แน่ใจก็ให้ฆ่าทำลายเชื้อที่อาจติดมาด้วยการจุ่มแช่เมล็ดในนํ้ายาเมอร์คิวริคคลอไรด์ 1.5 : 1,000 (HgCl2 1.5 กรัม ละลายน้ำ 1,000 มล.) นาน 5 นาที แล้วนำมาล้างในน้ำไหลอย่างน้อย 10 นาที ผึ่งให้แห้ง แล้วจึงค่อยนำไปปลูก
2. ฉีดสารเคมีป้องกันแมลงที่มากัดกินต้นแตงด้วย เมโธไซคลอ โรทีโนน หรือมาลาไธออน
3. ขจัดทำลายวัชพืชพวกแตงหรือต้นแตงที่งอกขึ้นมาเองหลังเก็บเกี่ยวให้หมดจากบริเวณแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยชั่วคราวของเชื้อ
4. หากมีโรคเกิดขึ้นในแปลงปลูกให้รีบป้องกันต้นอื่นๆ ที่ยังไม่เป็นด้วยสารเคมีที่มีองค์ประกอบของทองแดง เช่น คูปราวิท
ค็อปปิไซด์ ในต้นที่โตเต็มที่แล้ว แต่ถ้ายังเป็นต้นอ่อนให้ใช้ไธแรม แคปแตนแทน หรือจะใช้ยาปฏิชีวนะ คือ แอกริมายซินในอัตราความเข้มข้น 200-400 ppm. ก็จะช่วยป้องกันและลดความเสียหายลงได้
5. ควรงดปลูกแตงลงในดินหรือแปลงปลูกที่เคยมีโรคเกิดขึ้นสักระยะหนึ่ง 3-4 ปี หรือหากจะปลูกก็ควรเลือกใช้พันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรค
3.โรครานํ้าค้าง (downy mildew)
สาเหตุโรค : Pseudoperonospora cubensis
อาการ
อาการส่วนใหญ่จะเกิดบนใบ โดยจะเริ่มจากจุดแผลสีเขียวซีดขึ้นก่อน ต่อมาจะค่อยๆ ขยายโตขึ้นเป็นสีเหลืองและมีขอบเขตเป็นเหลี่ยมตามแนวหรือข่ายของเส้น vein ขณะเดียวกันหากความชื้นในอากาศสูง เช่น ในระยะที่มีฝนปรอย หรือหมอกนํ้าค้างจัด ทางด้านใต้ใบตรงกับจุดแผลที่เกิดขึ้น จะพบกลุ่มของเส้นใยและสปอร์ของเชื้อสาเหตุลักษณะเป็นขุย หรือผงสีเทา ซึ่งเมื่อแก่หรือแผลแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาล ในกรณีที่เกิดโรครุนแรงและสิ่งแวดส้อมเหมาะสม ใบส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในต้นอาจถูกเชื้อเข้าทำลายอย่างรุนแรง ทำให้ใบทั้งใบแห้งตาย ต้นจะโทรมอาจถึงตายได้ทั้งต้น สำหรับลูกแตงมักจะไม่ถูกเชื้อเข้าทำลายโดยตรง แต่เมื่อต้นเป็นโรคก็จะมีผลทางอ้อม เช่น เจริญเติบโตไม่เต็มที่ แกร็น คุณภาพและรสเสียไป
การป้องกันและกำจัด
1. ขจัดทำลายวัชพืชพวกแตงต่างๆ และต้นที่งอก หรือหลงเหลือจากการเก็บเกี่ยวให้หมดจากบริเวณหรือแปลงปลูก
2. เมื่อปรากฏมีโรคเกิดขึ้นในแปลงปลูกให้รีบป้องกันการระบาดเพื่อรักษาต้นที่ยังดีอยู่โดยการใช้สารเคมี เช่น บาซิลัส ซับทิลิส ,ฟลูโอพิโคโล+ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม, อีทาบ็อกแซม, ไซม๊อกซานิล+ฟาม็อกซาโดน, แมนโคเซบ+แมนดิโพรพามิด, ไซม็อกซานิล+แมนโคเซบ, คลอโรทาโลนิล
***การฉีดพ่นสารเคมีดังกล่าว ควรทำทันทีเมื่อเริ่มมีโรคเกิดขึ้น สำหรับการป้องกันควรทำหลังจากต้นแตงเกิดใบจริงแล้ว 2-5 ใบ โดยทำการฉีดทุกๆ 5 วัน หรือ 2 ครั้งใน 1 อาทิตย์ หากสิ่งแวดล้อมเหมาะสม และทำต่อเนื่องไปจนกระทั่งพืชแข็งแรงพ้นระยะการระบาดของโรค
3. สำหรับในกรณีเกษตรกรปลูกผักอินทรีย์ ให้ใช้น้ำส้มควันไม้ฉีดพ่น สามารถลดการระบาดได้ดีเช่นกัน
4. วิธีป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือเลือกปลูกพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรค