LINE it!
 @allkaset





  • โรคของพริก

    1.โรคแอนแทรคโนส (Anthracnose)

    เชื้อสาเหตุ : เกิดจากรา 2 ชนิด คือ 1. Colletotrichum dematium (Syd.) Bulter & Bisby 2. Colletotrichum gloeosporioides (Penz.) Sacc.
    อาการ
           ผลพริกเริ่มเป็นแผลหรือจุดช้ำเป็นแอ่งยุบลง ลักษณะอาจกลมหรือไม่แน่นอน ขนาดก็ตั้งแต่จุดเล็กๆ ไปจนเต็มความกว้างของผลพริก อาจมีเพียงแผลเดียวหรือหลายแผลก็ได้ แผลเหล่านี้ต่อมาจะแห้งเป็นสีนํ้าตาลหรือดำพร้อมกับการสร้าง fruiting body ซึ่งเป็นที่เกิดของสปอร์หรือโคนิเดีย เป็นจุดสีเหลืองส้มหรือน้ำตาลดำเป็นวงๆ เรียงซ้อนกันอยู่ที่แผลดังกล่าวเชื้อจะเข้าทำลายผลพริกได้ทุกระยะการเจริญตั้งแต่เริ่มเป็นผลเล็กๆ จนโตเต็มที่และสุกแดงแล้ว อย่างไรก็ดีหากเป็นระยะที่ยังอ่อนเซลล์บริเวณแผลซึ่งถูกทำลาย จะหยุดการเจริญเติบโตขณะเดียวกันส่วนรอบๆ จะเจริญไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดอาการคดโค้งงอหรือบิดเบี้ยวขึ้นโดยมีแผล หรือเซลล์ที่ตายอยู่ด้านใน ลักษณะคล้ายกุ้งแห้งทำให้มีชื่อ เรียกดังกล่าว พริกที่เป็นโรคตามธรรมชาติมักแสดงอาการให้เห็นชัดเจนบนผลพริกที่แก่จัดหรือผลสุก ส่วนอาการบนใบ ยอดอ่อน และกิ่งจะเกิดโรคต่อเมื่อสิ่งแวดล้อมเหมาะสม โรคนี้ถ้าเกิดกับต้นกล้าจะทำให้ต้นกล้าแห้งตาย (seedling blight)
    การป้องกันและกำจัด
           1. เมล็ดพันธุ์ควรเก็บจากแปลงที่ไม่เป็นโรคมาก่อน ถ้าจำเป็นต้องเก็บจากแปลงที่เป็นโรค ก่อนปลูกควรทำ seed treatment เช่น hot water treatment ใช้อุณหภูมิ 50-52?ซ. นาน 30 นาที พบว่าได้ผลดีมาก หรือใช้สารเคมี Delsene MX คลุกเมล็ดในอัตรา 0.8% ของนํ้าหนักเมล็ดก็ได้ผลดีเช่นกัน
           2. ปลูกพืชหมุนเวียนสลับกับพืชที่ไม่อยู่ในวงศ์ Solanaceae และหมั่นทำลายวัชพืช จัดการระบายนํ้าให้ดี ตลอดจนเก็บเศษซากพืชที่เป็นโรคนี้ทำลายเสีย
           3. หลังจากเก็บพริกจากต้นแล้วและอยู่ในระหว่างการขนส่ง ควรเก็บไว้ในที่เย็น ภายใต้อุณหภูมิคงที่ พริกจะไม่ค่อยเกิดโรค
           4. เมื่อต้นพริกโตแล้ว ฉีดสารเคมีป้องกันไม่ให้เกิดโรค เช่น imazalil, prochloraz, benomyl, carbendazim, mancozeb, maneb และ Delsene MX เป็นต้น

    2.โรคใบจุดที่เกิดจากเชื้อรา Cercospora (Cercospora leaf spot)

    เชื้อสาเหตุ : Cercospora capsici Heald & Wolf.
    อาการ
           โรคจะเข้าทำลายก่อเกิดอาการได้ทุกส่วนของต้นพริกไม่ว่าจะเป็นต้น กิ่ง ก้านใบ กลีบดอก ผล และขั้วผล บนใบแผลจะเริ่มจากจุดเซลล์ตายเล็กๆ ค่อนข้างกลมแล้วค่อยขยายใหญ่ขึ้นเปลี่ยนเป็นแผลสีเหลืองซีดจางขอบเข้ม ตอนกลางบางมีสีจางหรือเป็นจุดขาว ปกติแล้วแผลจะมีขนาด ราว 3-4 มิลลิเมตร แต่ถ้าเกิดเดี่ยวบางครั้งอาจมีขนาดโตถึง 1 เซนติเมตรใบที่เกิดแผลมากๆ เนื้อใบจะเหลืองทั้งใบ แล้วร่วงหลุดจากต้น ในต้นที่เป็นรุนแรงใบจะร่วงหมดทั้งต้น ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดความเสียหายคือต้นโทรมไม่ออกผล แต่ถ้าเป็นในระยะที่ให้ผลแล้วเมื่อได้รับแสงอาทิตย์เต็มที่จะทำให้เกิดอาการไหม้ตายนึ่ง (sunburn) ขึ้นกับผลพริกเนื่องจากไม่มีใบช่วยบังแสงให้ ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้ออื่นเข้าทำลายได้ง่ายยิ่งขึ้น สำหรับอาการแผลบนต้น กิ่ง ก้าน มีลักษณะเป็นแผลยาวสีดำหรือนํ้าตาลเข้ม หากเกิดมากๆ จะทำลายกิ่ง ก้าน เหล่านั้นให้แห้งตายได้ และถ้าเกิดแผลที่ขั้วผลก็จะทำให้ผลร่วง
    การป้องกันและกำจัด
           1. เลือกใข้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อ
           2. หลีกเลี่ยงการปลูกพริกในแปลงที่เคยมีโรคระบาดมาก่อนอย่างน้อย 2 ปี
           3. เมื่อเกิดโรคระบาดรุนแรงสารเคมีที่แนะนำ ได้แก่ คลอโรธาไลนิล, สารผสมระหว่างเบนโนมิล หรือคาร์เบนดาซิม และแมนโคเซ็บ, มาเน็บ หรือซีเน็บ

    3.โรครากและโคนเน่า (root rot)

    เชื้้อสาเหตุ: Sclerotium rolfsii Sacc.
    อาการ
           พริกที่ถูกเชื้อ Sclerotium spp. เข้าทำลายก็เช่นเดียวกับในมะเขือเทศ เชื้อจะเข้าทำลายส่วนรากและโคนต้น ระดับดิน ถ้าเป็นในระยะกล้าอาการจะคล้าย damping-off ส่วนในต้นโตจะเกิดอาการใบเหลือง เหี่ยว ใบล่วง แคระแกร็น หยุดการเจริญเติบโต เมื่อถอนต้นขึ้นดูจะพบว่าระบบรากถูกทำลายหลุดล่อนขาดกุดเช่นเดียวกับที่เกิดจาก Fusarium บริเวณโคนต้น เปลือกจะถูกทำลายลึกเข้าไปถึงส่วนของลำต้น ภายในเกิดเป็นแผลเป็นสีนํ้าตาลพร้อมกับจะปรากฎเส้นใยสีขาวขึ้นอยู่ทั่วไป และที่ต่างไปจากราอื่นๆ คือจะพบเม็ดสเครอโรเทียสีขาวหรือนํ้าตาลเป็นเม็ดกลมเล็กๆ เท่าหัวเข็มหมุดเป็นจำนวนมากอยู่ที่บริเวณแผลและดินโคนต้นเห็นได้ชัดเจน เมื่อรากถูกทำลายหมดหรือหากเกิดแผลจนรอบโคนต้นแล้ว พืชมักจะแห้งตายทั้งต้น
    การป้องกันกำจัด
           1. ขุดทำลายต้นพริกที่เป็นโรคพร้อมทั้งฆ่าทำลายเชื้อในดินบริเวณโคนต้นโดยใช้ไฟเผาหรือสารเคมีเช่น เทอราคลอร์ ฟอร์มาลดีไฮด์ ราดลดลงไปในดินนั้น
           2. หลีกเลี่ยงหรืองดปลูกพริกซํ้าลงในดินที่เคยมีโรคระบาดไม่ต่ำกว่า 5 ปี
           3. หลังเก็บเกี่ยวผลแล้วให้เติมปูนขาวลงในดินในปริมาณ 100-300 กก. ต่อไร่ แล้วปล่อยทิ้งไว้ระยะหนึ่งเมื่อใกล้จะปลูกพืชใหม่จึงค่อยใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกลงไปอีก 2-4 ตัน วิธีนี้จะช่วยหยุดการเจริญเติบโตและลดปริมาณเชื้อที่มีอยู่ขณะเดียวกันก็จะช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ของดินเพื่อให้เหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืชต่อไป