สาเหตุและวงจรการเกิดโรคพืช
สาเหตุโรคพืช
โรคพืชเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลัก 2 ประเภท ดังต่อไปนี้
1. สาเหตุจากสิ่งมีชีวิต (Biotic pathogens) ได้แก่ เชื้อรา แบคทีเรีย มอลลิคิวส์ ไวรัส ไวรอยด์ โปรโตซัว ไส้เดือนฝอย พืชชั้นสูงที่เป็นวัชพืช หรือ ประสิตกับพืชปลูก
2. สาเหตุจากสิ่งไม่มีชีวิต (Abiotic pathogens) ได้แก่ ปัจจัยทางกายภาพ (แสง อุณหภูมิ ความชื้น หรือสภาพภูมิอากาศ) ที่ไม่เหมาะสม ความไม่สมดุลของธาตุอาหารพืช สารเคมีที่ใช้ในการกำจัดศัตรูพืช และสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช และสิ่งต่างๆที่ทำให้เกิดมลภาวะ เช่น ฝุ่นละออง ธาตุโลหะหนัก สารพิษตกค้าง เป็นต้น
สาเหตุโรคพืชทั้งสองประเภทสามารถส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชได้พร้อมๆกัน หรือเสริมกัน เช่น การผิดปรกติจากสาเหตุที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิตอาจส่งผลทำให้ต้นพืชมีความอ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุโรคพืชต่างๆได้มากขึ้น หรือในทางกลับกัน การที่พืชเป็นโรคจากเชื้อสาเหตุโรคบางชนิดอาจส่งผลกระทบทำให้ต้นพืชขาดธาตุอาหารที่สำคัญในการเจริญเติบโต หรือไม่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปมาได้
โรคพืชแต่ละชนิดจะมีจุดเริ่มต้นที่ส่วนของเชื้อสาเหตุโรคเข้าไปสัมผัสกับส่วนของต้นพืชแล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการต่างๆ ในทางที่จะทำให้เชื้อสาเหตุโรคเข้าไปอาศัยหรือดำรงชีพอยู่กับต้นพืชนั้น ในขณะเดียวกันพืชก็จะมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการทั้งด้านการเจริญเติบโตตามปรกติธรรมชาติของพืช และในขณะเดียวกันก็จะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเชื้อสาเหตุโรคที่เข้ามาทำลายจนกว่าพืชจะถึงระยะสุดท้ายของวงจรชีวิต เชื้อสาเหตุโรคก็จะมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตัวเองให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมหรือสภาพของต้นพืชที่เชื้ออาศัยอยู่ ดังนั้นกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากที่เชื้อสาเหตุโรคเข้าไปสัมผัสกับพืชแล้วก่อให้เกิดโรคบนพืชได้ตลอดอายุปลูกของพืชหนึ่งๆเรียกว่า วงจรการเกิดโรค