ส่วนประกอบของเมล็ด
เมล็ดถั่วแดง เมล็ดข้าวโพด
เมล็ดมีส่วนประกอบที่สำคัญ ดังนี้
เปลือกเมล็ด (seed coat หรือ Testa) เป็นส่วนประกอบชั้นนอกสุดของเมล็ด เปลี่ยนแปลงมาจากผนังออวุล (integument) ส่วนมากมี 2 ชั้น
1) เปลือกเมล็ดชั้นนอก (testa) เจริญมาจากผนังชั้นนอกของออวุล (outer integument) จะแข็งหรือเหนียว ทำหน้าที่ป้องกันการระเหยของน้ำ และป้องกันอันตรายต่าง ๆ เช่น แมลง เชื้อโรค และป้องกันอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น ลมฟ้าอากาศ เป็นต้น
2) เปลือกเมล็ดชั้นใน (tegment) เจริญมาจากผนังชั้นในของออวุล (entegument) ส่วนมาก มีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ สีขาว อ่อนนุ่ม
เปลือกเมล็ดบางชนิดอาจเชื่อมติดกันเป็นชั้นเดียว เช่น ถั่วชนิดต่าง ๆ
เปลือกเมล็ดบางชนิดเปลี่ยนสภาพไปหลายรูปแบบ เช่น เป็นใยสีขาวทำให้เมล็ดปลิวไปตามลมได้ เช่น ฝ้าย หรือผนังชั้นนอกของออวุลของเมล็ดบางชนิด เปลี่ยนเป็นเนื้อนุ่ม ๆ รับประทานได้ เช่น เงาะ ลำไย เป็นต้น ซึ่งเรียกผลชนิดนี้ว่า ผลแบบมีปุยหุ้มเมล็ด (aril fruit)
บริเวณเปลือกด้านหนึ่งจะพบรอยแผลเป็นเล็ก ๆ อยู่ เรียกบริเวณนี้ว่า ขั้วเมล็ด (hilum) ใกล้ ๆ กันจะพบรูเล็ก ๆ เรียกรูไมโครไพล์ (micropyle) ซึ่งเป็นรูที่หลอดละอองเรณูงอกเข้าไปเพื่อให้สเปิร์มเข้าไปผสมกับเซลล์ไข่และโพลาร์นิวเคลียส
เอ็มบริโอ (embryo) เป็นส่วนที่จะเจริญไปเป็นต้นพืชเอ็มบริโอเกิดจากการผสมกันระหว่างเซลล์ไข่และเซลล์สเปิร์ม เอ็มบริโอประกอบด้วยส่วนประกอบ ดังนี้
1) ใบเลี้ยง (cotyledon) พืชใบเลี้ยงคู่ มีใบเลี้ยงสองใบ ส่วนพืชใบเลี้ยงเดี่ยวมี ใบเลี้ยงหนึ่งใบ ใบเลี้ยงของพืชใบเลี้ยงเดี่ยว จะมีลักษณะเป็นแผ่นขาว ๆ บาง ๆ เรียกว่าใบเลี้ยงธัญพืช (scutellum)
หน้าที่ของใบเลี้ยง
- ย่อย ดูดซึม และสะสมอาหารที่ได้จากเอนโดสเปิร์มเพื่อไว้เลี้ยงเอ็มบริโอ
- ปกคลุม ป้องกันอันตรายให้กับยอดแรกเกิด (plumule)
- ใบเลี้ยงพืชที่พ้น ที่มีคลอโรพลาสต์สังเคราะห์ด้วยแสงได้
2) ต้นแรกเกิด (caulicle) ประกอบด้วย 2 ส่วน ดังนี้
- ต้นอ่อนเหนือใบเลี้ยง (epicotyl) ส่วนนี้มีส่วนปลายยอดเรียก ยอดแรกเกิด (plumule) ซึ่งประกอบด้วยเนื้อเยื่อเจริญส่วนปลายยอด (apical shoot meristem) ซึ่งจะเจริญเป็นต้น ใบ และยอดต่อไป
- ต้นอ่อนใต้ใบเลี้ยง (hypocoty) เป็นส่วนที่จะเจริญเป็นต้น ยกเว้นส่วนปลายสุดของต้นอ่อนใต้ใบเลี้ยง (hypocotyl) ที่เรียกว่า รากแรกเกิด (radicle) ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ตรงไมโครไพล์ (micropyle) ของเมล็ด และส่วนนี้จะเจริญเติบโตเป็นรากปฐมภูมิ (primary root) หรือรากแก้ว (tap root) ต่อไป
เอนโดสเปิร์ม (endosperm) เป็นเนื้อเยื่อที่เจริญมาจากเซลล์เอนโดสเปิร์มปฐมภูมิ (primary endosperm cell) มีหน้าที่สะสมอาหารสำหรับเอ็มบริโอที่กำลังงอกในระยะแรก
เมล็ดพืชที่เอ็มบริโอดูดซับอาหารมาใช้ก่อนที่เมล็ดจะแก่จะไม่พบเอ็นโดสเปิร์มในเมล็ด เช่น ถั่ว บัว ทานตะวัน เป็นต้น พืชพวกนี้จะงอกเร็วกว่า เมล็ดพืชที่ดูดซับอาหารที่สะสมไว้ในเอนโดสเปิร์มไปใช้ก็ต่อเมื่อเมล็ดจะงอก เมล็ดพวกนี้จะพบเอนโดสเปิร์มอยู่ เช่น เมล็ดละหุ่ง เรียกเมล็ดพวกนี้ว่า เมล็ดมีเอนโดสเปิร์ม (albuminous seed) และเมล็ดที่ไม่พบเอนโดสเปิร์ม เรียกว่า เมล็ดไร้เอนโดสเปิร์ม (exalbuminous seed)
อาหารที่สะสมอยู่ภายในเอ็นโดสเปิร์ม มีดังนี้
1) คาร์โบไฮเดรต เป็นสารอาหารส่วนใหญ่ที่อยู่ในเมล็ดพืช อาจสะสมอยู่ในรูปแป้งหรือน้ำตาล ซึ่งนำไปสร้างเซลลูโลสเป็นสารที่สร้างผนังเซลล์
2) โปรตีน เมล็ดพืชทุกชนิดมีโปรตีนสะสมอยู่ แต่มีปริมาณไม่เท่ากัน พืชนำไปสร้างโพรโทพลาซึม (protoplasm)
3) ไขมัน และน้ำมัน มีปริมาณมากน้อยแล้วแต่ชนิดของพืช