LINE it!
 @allkaset





  • การปลูกและการดูแลรักษามะเขือเทศ

    สภาพอากาศที่เหมาะสม
              ฤดูหนาวในช่วงเดือนพฤศจิกายน - มกราคม เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการเจริญเติบโตของมะเขือเทศในประเทศไทย โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดในการเจริญเติบโตอยู่ระหว่าง 18 - 28องศาเซลเซียส ซึ่งต้นแข็งแรงและติดผลมาก ถ้าความชื้นของอากาศและอุณหภูมิสูงจะทําให้ผลผลิตและคุณภาพลดลงทําให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย ปัญหาการปลูกมะเขือเทศในฤดูฝน คือ ฤดูฝนจะมีความชื้นและอุณหภูมิเหมาะแก่การเจริญเติบโตของโรคหลายชนิด และมะเขือเทศบางพันธุ์ผลจะแตกง่ายเมื่อฝนตก ถ้าต้องการจะปลูก
    มะเขือเทศในฤดูฝนสิ่งที่จะต้องปฏิบัติคือ
              1. เลือกพื้นที่ปลูกที่สูง มีการระบายน้ำดีเป็นพิเศษ
              2. ดินมีสภาพเป็นกลาง คือมีค่าความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 6.5 - 6.8
              3. ใช้พันธุ์ที่เหมาะสม คือ ให้ผลดกในฤดูฝน และฤดูร้อน
              4. มีการปฏิบัติรักษาอย่างถูกต้อง คือ เตรียมดิน ใส่ปุ๋ยให้ถูกต้อง ฉีดพ่นสารสมุนไพรที่ใช้ป้องกันกําจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องและบ่อยครั้งเป็นพิเศษ ไม่ปล่อยให้โรคทําลายก่อนแล้วจึงป้องกันกําจัด

    สภาพดินและการเตรียมดินปลูก
              ดินที่เหมาะสมในการปลูกมะเขือเทศมากที่สุดควรเป็นดินร่วนมีอินทรียวัตถุสูง และมีการระบายน้ำดีความเป็นกรดเป็นด่างของดินประมาณ 4.5 -6.8 ถ้าดินเป็นกรดหรือเป็นด่างมากเกินไปจะทําให้ดินขาดธาตุอาหารบางอย่างได้ หรือธาตุอาหารบางชนิดสามารถละลายออกมาได้มากเกินไปจนเป็นเหตุให้เป็นพิษต่อต้นพืช
              การปลูกมะเขือเทศโดยทั่วไปไม่ควรปลูกซ้ำที่เดิมหรือในพื้นที่ปลูกพืชในตระกูลเดียวกันกับมะเขือเทศมาก่อน เช่น พริก มะเขือ และยาสูบ เป็นต้น เพราะอาจมีเชื้อโรคต่างๆ เช่น โรคโคนเน่าสะสมอยู่ในดินซึ่งเป็นโอกาสให้มะเขือเทศเกิดเป็นโรคได้ง่าย
              การเตรียมดินสําหรับปลูกมะเขือเทศต้องพิถีพิถันเป็นอย่างมาก ดินต้องมีการระบายน้ำดี กําจัดวัชพืชออกให้หมด เพราะวัชพืชนอกจากจะแย่งน้ำ อาหารและแสงแดดแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัยของโรคและแมลงอีกด้วย ดังนั้น ถ้าหากมีการเตรียมดินให้ดีตั้งแต่เริ่มแรกจะเป็นการป้องกันการงอกของวัชพืชไปได้นาน การเตรียมดินควรไถดินให้ลึกประมาณ 30-40 เซนติเมตร ถ้าใช้เครื่องทุ่นแรงหรือรถไถ ควรไถ 2 ครั้ง โดยใช้ผาล 4 และผาล 7 ไถย่อยดินไปมาและ ตากดินให้แห้ง 3-4 อาทิตย์แล้วย่อยดินให้ละเอียดพอสมควร เพราะมะเขือเทศต้องการสภาพดินที่มีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี ถ้าหากดินเป็นกรดให้ใช้ปูนขาวหว่านประมาณ 100-300 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใช้ปูนขาวหว่านและคลุกเคล้ากับดินหรืออาจจะหว่านก่อนการเตรียมดินครั้งสุดท้าย แต่อย่างไรก็ตามควรใส่ปูนขาวก่อนปลูกประมาณ 2-3 อาทิตย์

    การเพาะกล้า
    การเพาะกลาทำได้ 3 วิธีคือ
              1. กระบะเพาะ นิยมใช้กรณีที่ต้องการต้นกล้าจํานวนไม่มากนัก การเพาะกล้าโดยวิธีนี้จะสามารถเพาะได้ดีเนื่องจากใช้ดินจํานวนน้อย สามารถนําดินมาอบฆ่าเชื้อโรคก่อนทําการเพาะได้ โดยอบด้วยไอน้ำร้อน หรือตากดินที่จะใช้เพาะให้ดีก่อนประมาณ 3-4 อาทิตย์ หรือเลือกดินที่ปราศจากโรคมาเป็นส่วนผสมโดยสังเกตว่าดินนั้นปลูกพืชแล้วพืชไม่เคยเป็นโรคมาก่อนหรือเป็นดินที่ไม่เคยปลูกพืชมาก่อนเลยก็ใช้ได้
    กระบะที่ใช้เพาะเมล็ดควรมีขนาดประมาณ 45-60 เซนติเมตร (หรือภาชนะที่พอจะหาได้)ลึกไม่เกิน 10 เซนติเมตร มีรูระบายน้ำได้ใส่ดินที่ร่อนแล้ว 3 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน ทรายหรือแกลบ 1ส่วนคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรับผิวหน้าดินให้เรียบแล้วโรยเมล็ดเป็นแถว โดยการใช้ไม้ทาบเป็นร่องเล็กๆ ระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 5-7 เซนติเมตร แล้วกลบเมล็ดด้วยแกลบหรือทรายบางๆ รดน้ำให้ชุ่มและใช้สารป้องกันกําจัดแมลงศัตรูพืช พด.7 เจือจางด้วยน้ำในอัตรา 1:500 ฉีดพ่นอีกทีหนึ่ง เพื่อป้องกันมดคาบเมล็ดไปกิน เมื่อกล้าอายุได้ 15 วัน หรือมีใบจริง 2 ใบ ให้ย้ายกล้าลงใส่ถุงพลาสติกขนาด 4 x 6 นิ้ว ซึ่งบรรจุดินผสมอยู่จนกระทั่งกล้าสูงประมาณ 30 เซนติเมตร หรือมีอายุ 30-40 วันจึงทําการย้ายกล้าลงแปลงปลูก โดยใช้มีดกรีดถุงพลาสติกให้ขาดเพื่อไม่ให้รากกระทบกระเทือนก่อนที่จะย้าย 2-3 วัน อาจใช้โพแทสเซียมคลอไรด์อัตรา 2 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปี๊บรดเพื่อให้ต้นกล้าแข็งแรง แต่ก่อนย้ายกล้าควรงดการให้น้ำ 1 วัน เพื่อให้ดินในถุงจับตัวกันแน่น ทําให้สะดวกต่อการย้ายกล้า อย่างไรก็ตามเมื่อกล้ามีใบจริง 2-3 ใบ หากไม่ย้ายกล้าลงถุงพลาสติกก็ควรชําต้นกล้าให้เป็นแถวในแปลงชํา โดยเตรียมดินให้ร่วนซุยด้วยการใส่ปุ๋ยคอกในอัตรา 5-7 กิโลกรัมต่อ 1 ตารางเมตร ขนาดแปลงชํากว้าง 1 เมตร ความยาวขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่และปริมาณของต้นกล้า ระยะปลูกระหว่างแถว 10เซนติเมตร และเมื่อกล้าสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ก็ย้ายลงแปลงปลูกจริง โดยก่อนย้ายจะต้องรดน้ำในแปลงชําให้ชุ่มเสียก่อน เพื่อความสะดวกในการถอนต้นกล้าและรากต้นกล้าจะไม่ขาดหรือถูกกระทบกระเทือนมากนัก
              2. แปลงเพาะ นิยมใช้ในกรณีที่ต้องการต้นกล้าเป็นจํานวนมาก สําหรับขนาดของแปลงเพาะก็เช่นเดียวกับแปลงชํา คือ ขนาดกว้าง 1 เมตร ความยาวขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่หรือปริมาณกล้าที่ต้องการทางเดินระหว่างแปลง 50 เซนติเมตร ผสมดินด้วยปุ๋ยคอกและทรายตามอัตราส่วน 3 : 1 ทําการเพาะเมล็ดโดยโรยเมล็ดเป็นแถวห่างกัน 10 เซนติเมตร เมื่อกล้ามีอายุ 20 - 25 วันหรือมีใบจริง 2 - 3 ใบก็สามารถย้ายลงแปลงปลูกได้ แปลงเพาะควรมีตาข่ายหรือผ้าดิบคลุมแปลง เพื่อป้องกันแดด ลม และฝนซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ต้นอ่อนได้ โดยเปิดผ้าคลุมแปลงให้รับแสงแดดในช่วงเช้าถึง 3 โมงเช้าและเปิดอีกครั้งเมื่อ 4 โมงเย็น ในกรณีที่หาวัสดุหรือผ้าคลุมแปลงไม่ได้และไม่ใช่ฤดูฝน อาจจะใช้ฟางข้าวใหม่มาคลุมบางๆ หลังจากโรยเมล็ดและกลบดินเรียบร้อยแล้ว เมื่อเมล็ดงอกจึงค่อยๆ ดึงฟางออกบ้างเพื่อให้ต้นกล้าโผล่พ้นฟางได้ง่ายและต้นกล้าแข็งแรงมากขึ้น
              3. ถาดเพาะกล้า เป็นวิธีเพาะกล้าที่สะดวกและพัฒนาจากวิธีการเพาะกล้าในกระบะเพาะโดยเตรียมเพาะเมล็ดมะเขือเทศลงในถาดเพาะกล้าพลาสติก เมื่อกล้ามีอายุได้ประมาณ 20 วัน จึงเตรียมย้ายปลูกลงแปลง โดยใช้มือบีบด้านล่างสุดของถาดหลุม ต้นกล้าจะหลุดออกมาจากถาดพร้อมดินปลูกทําให้ต้นกล้ามะเขือเทศไม่ได้รับความกระทบกระเทือนมากนัก

    การปลูก
              แปลงปลูกควรไถพรวนและปรับระดับดินให้เรียบสม่ำเสมอกันแล้วยกแปลงให้สูงประมาณ 30เซนติเมตร กว้าง 100 เซนติเมตร และเพื่อป้องกันวัชพืชขึ้น รวมทั้งรักษาความชื้นในแปลง ควรคลุมแปลงด้วยผ้าพลาสติกทึบแสงและเจาะรูเฉพาะหลุมปลูกให้ปลูกเป็นแถวคู่ ระยะระหว่างแถว 70เซนติเมตร ระหว่างต้น 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมปลูกด้วยปุ๋ยคอกหนึ่งกระป๋องนมต่อหลุม ปุ๋ยสูตร15-15-15 อัตรา 20 กรัมต่อหลุม คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วจึงย้ายกล้าลงหลุมปลูกหลุมละ 1-2 ต้น กลบดินให้เสมอระดับผิวดิน อย่าให้เป็นแอ่งหรือเป็นหลุมในช่วงฤดูฝน เพราะจะทําให้น้ำขังและต้นกล้าเน่าตายได้ แต่ถ้าปลูกในฤดูหนาวหรือฤดูแล้งควรจะกลบดินให้ต่ำกว่าระดับหลุมเล็กน้อย สําหรับการย้ายกล้าลงแปลงปลูกนี้ต้องเลือกต้นกล้าที่มีลักษณะดีคือ มีต้นแข็งแรง ปราศจากโรคและแมลงรบกวน ถ้าเป็นการย้ายกล้าจากแปลงเพาะหรือแปลงชํามาลงปลูกโดยตรง ควรย้ายปลูกในเวลาที่อากาศไม่ร้อนคือ ในตอนบ่ายหรือเย็น เมื่อย้ายเสร็จแล้วให้รดน้ำตามทันที จะทําให้กล้าตั้งตัวได้เร็วขึ้นและเปอร์เซ็นต์การตายน้อยลง แต่ถ้าเป็นการย้ายกล้าที่ชําในถุงพลาสติก สามารถย้ายลงแปลงได้ทุกเวลา ต้นกล้าจะตั้งตัวได้เรวและรอดตายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์หลังจากย้ายกล้าแล้วรดน้ำกล้าให้ชุ่มทุกเช้า-เย็น เมื่อกล้าตั้งตัวดีแล้ว จึงควรรดน้ำเพียงวันละครั้ง ในบางแห่งอาจจะให้น้ำแบบเข้าตามร่องแปลงจนชุ่ม แล้วปล่อยน้ำออก วิธีนี้สามารถทําให้มะเขือเทศได้รับน้ำอย่างเต็มที่และอยู่ได้ 7 -10 วัน
    การพรวนดินกลบโคนต้น
              เมื่อต้นกล้าตั้งตัวได้แล้ว ในแปลงที่ไม่ได้คลุมแปลงด้วยผ้าพลาสติกทึบแสง ควรทําการพรวนดินกลบโคนต้น โดยเปิดเป็นร่องระหว่างแถว เพื่อให้การให้น้ำ ทําได้สะดวก น้ำไม่ขัง และทําให้รากมะเขือเทศเกิดมากขึ้น ซึ่งจะทําให้ลําต้นมีความแข็งแรง หลังจากพรวนดินกลบโคนครั้งแรกแล้ว 1เดือน ให้ทําการกลบโคนอีกครั้งหนึ่ง

    การให้น้ำ
              มะเขือเทศเป็นพืชที่ต้องการน้ำสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนถึงผลเริ่มแก่ (ผลมีการเปลี่ยนสี)หลังจากนั้นควรลดการให้น้ำลงมิฉะนั้นอาจทําให้ผลแตกได้ นอกจากนี้การรดน้ำมากเกินไปจะทําให้ดินชื้น ซึ่งจะทําให้เชื้อราสาเหตุโรคเน่าเจริญเติบโตได้ดี แต่ถ้าหากมะเขือเทศขาดน้ำและให้น้ำอย่างกระทันหันก็จะทําให้ผลแตกได้เช่นกัน

    การใส่ปุ๋ย
              นอกจากจะใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 รองก้นหลุมก่อนปลูกแล้ว การปลูกมะเขือเทศจําเป็นจะต้องมีปุ๋ยเคมีเสริมด้วยเพื่อให้คุณภาพและผลผลิตของมะเขือเทศสูงขึ้น สําหรับปุ๋ยเคมีที่ใช้ขึ้นอยู่กับสภาพของดินแต่ละพื้นที่ เช่น สภาพดินเหนียว ปุ๋ยเคมีที่ใช้ควรมีไนโตรเจนและโพแทสเซียมเท่ากัน ส่วนฟอสฟอรัสให้มีอัตราสูง เช่น สูตร 12-24-12 หรือ 15-30-15 ถ้าเป็นดินร่วนควรให้ปุ๋ยที่มีโพแทสเซียมสูงขึ้นแต่ไม่สูงกว่าฟอสฟอรัส เช่น สูตร 10-20-15 ส่วนดินทรายเป็นดินที่ไม่ค่อยมีธาตุโพแทสเซียม จึงควรให้ปุ๋ยที่มีธาตุโพแทสเซียม สูงกว่าตัวอื่น เช่น สูตร 15-20-2013-13-21 และ 12-12-17 เป็นต้น แต่ถ้าเป็นการปลูกมะเขือเทศนอกฤดูจะต้องใช้ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูงเนื่องจากมะเขือเทศจะต้องใช้ปุ๋ยไนโตรเจนมากในสภาพอุณหภูมิของอากาศสูง แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่สามารถหาปุ๋ยสูตรดังกล่าวข้างต้นได้ ก็สามารถใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา100 กิโลกรัมต่อไร่ โดยการแบ่งใส่ 3 ครั้ง ดังนี้
              ครั้งที่ 1 หลังจากย้ายปลูก 7 วัน
              ครั้งที่ 2 หลังจากครั้งที่หนึ่ง 15 วัน
              ครั้งที่ 3 หลังจากครั้งที่สอง 20 วัน

    การปักค้าง
              พันธุ์มะเขือเทศที่ทอดยอดหรือพันธุ์เลื้อยจําเป็นจะต้องมีการปักค้าง โดยใช้ไม้หลักปักค้างต้นก่อนระยะออกดอก ใช้เชือกผูกกับลําต้นให้ไขว้กัน และผูกเงื่อนกระตุกกับค้าง เพื่อให้ต้นเจริญเติบโตได้ดี สะดวกต่อการดูแลรักษา สามารถฉีดสารป้องกันกําจัดโรคแมลงได้อย่างทั่วถึง และผลไม้สัมผัสดิน ทําให้ผลสะอาด สะดวกต่อการเก็บเกี่ยว

    การเก็บเกี่ยว
              การเก็บเกี่ยวขึ้นอยู่กับพันธุ์ของมะเขือเทศ แต่โดยเฉลี่ยแล้วเมื่อย้ายปลูกได้ประมาณ 30-45วัน มะเขือเทศจะเริ่มออกดอก และจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุประมาณ 70-90 วัน ซึ่งระยะเริ่มปลูกถึงเก็บเกี่ยวนั้นจะใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือน
              อายุของผลที่เก็บเกี่ยวขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการปลูกเป็นสําคัญ หากเป็นการปลูกเพื่อส่งตลาดสดจะต้องเก็บในระยะที่ไม่แก่จัด คือ ในระยะที่ผลเป็นสีเขียวและเริ่มเปลี่ยนเป็นสีชมพูเรื่อๆ และการเก็บเกี่ยวต้องให้ขั้วผลติดมาด้วย เหตุที่ต้องเก็บผลในระยะที่ไม่แก่จัดเนื่องจากทําให้ทนทานต่อการขนส่ง และเมื่อมะเขือเทศถึงมือผู้บริโภคหรือวางขายในตลาดก็จะเริ่มสุก (ผลมีสีส้มหรือสีแดง)พอดี


              ส่วนการเก็บเกี่ยวผลมะเขือเทศที่ส่งโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ต้องเก็บในระยะผลสุกเป็นสีแดงหรือสีส้มทั้งผล (ขึ้นอยู่กับพันธุ์มะเขือเทศ) และเก็บไม่ให้มีขั้วผลติดมากับผล หากผลไม้สุกแดงและมีขั้วผลติดมาด้วย โรงงานอุตสาหกรรมจะคัดทิ้ง เนื่องจากเมื่อนําไปทําผลิตภัณฑ์แล้วจะทําให้คุณภาพและสีของผลิตภัณฑ์เสีย ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ต้องการ